เขียนโดย: admin(ก๊อต)

วันที่โพส 01/04/2021

“ในวิกฤติมีโอกาส”

 

จากเหตุการณ์ “มหันตภัยไวรัสโควิด-19” ที่เล่นงานประชากรโลกจนย่ำแย่กันไปตาม ๆ กัน ประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์นี้ แต่ก็นับว่าได้รับผลกระทบไม่มากในเรื่องการเจ็บป่วย ถ้าเปรียบเทียบกับหลาย ๆ ประเทศในโลกใบนี้…….ต้องขอชื่นชมการทำงานหนักของรัฐบาล และหน่วยงานการแพทย์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่ช่วยกันเสียสละกำลังกาย กำลังใจ และกำลังสมองในการเข้าช่วยเหลือผู้คนในประเทศไทยในครั้งนี้

 

ในด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็มีผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม ในแต่ละองค์กรก็ได้สร้างภูมิป้องกันด้วยมาตรการต่าง ๆ ขึ้นมาดูแลและจัดการองค์กรของตน อาทิ

  • การรักษาเงินสด
  • การประหยัดต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
  • การใช้จ่ายเงินอย่างรัดกุม

ประการสำคัญ คือ การสร้างยอดขายเพื่อเป็นรายรับสำหรับองค์กร ซึ่งก็ไม่ง่ายในสภาวะขณะนี้

 

ความเห็นส่วนตัวของผม : คนที่ผ่าน และเติบโตมากับวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 มาแล้ว ก็คงมีประสบการณ์และความหนักแน่นในการตั้งหลักรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้และไม่ตื่นตระหนกจนเกินเหตุ ซึ่งในเรื่องนี้ อยากฝากคนหนุ่มรุ่นใหม่ ที่เพิ่งย่างก้าวเข้ามาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ต้องตั้งหลักและตั้งสติให้ดีครับ ประเทศไทยของเรายังปลอดภัยกว่าที่อื่นๆ เยอะครับ จะดูได้จากน้องๆ นักศึกษาที่ขอกลับประเทศ เพราะเมืองนอกอยู่ยากจริง ๆ ซึ่งผมเชื่อว่า เหตุการณ์ ไวรัสโควิด-19 นี้ น่าจะควบคุมได้ และผ่านไปในไม่ช้านี้” เป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะครับ

“ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ”

 

ในช่วงว่างๆ ผมเองก็นั่งคิดนั่งพิเคราะห์ว่า เมื่อสงครามสงบจะมีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นทุกครั้งและอะไรคือ ธุรกิจที่เราน่าจับตามอง ในวันนี้ธุรกิจที่ดียังเหลืออยู่คือ

  • ธุรกิจเกี่ยวกับด้านยา
  • สาธารณสุขต่าง ๆ

เนื่องจากเป็นภาวะของการติดเชื้อโรค และที่เห็นยังพออยู่ได้ในขณะนี้ก็คือ

  • ธุรกิจอาหารที่ส่งตามบ้านต่างๆ
  • พี่ พี่มอเตอร์ไซค์ ที่ยังคงนั่งบิดกันอย่างเป็นพัลวันกับยอดสั่งที่ได้รับ
  •  

วิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้
มีข้อแตกต่างจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง

 

เพราะวันนั้นเป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่พังล้มในประเทศไทย จนทำให้ภาคเอกชนได้รับความเดือดร้อน มีการปลดพนักงานออกเป็นจำนวนมากเพื่อรักษาสภาพขององค์กรให้ดีที่สุด ในวิกฤตการณ์ครั้งนั้นแตกต่างจากครั้งนี้ วันนั้นผมยังจำได้ ว่ามีภาพความน่ารัก ๆ เกิดขึ้นในช่วงวิกฤต เราจะเห็นพนักงานหนุ่มสาวที่ถูกออกจากงานหรือที่ขยันทำมาหากิน เอารถออกมาจอดเพื่อขายของที่เหลือใช้หรือเอาสินค้ามาจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไป เป็นบรรยากาศตลาดเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในหลายๆ สถานที่และมุมเมืองต่าง ๆ เรายังจำกันได้ใช่ไหมครับกับ คำว่า “เปิดท้ายขายของ”

 

แต่เหตุการณ์วันนี้แตกต่างกัน ไม่มีภาพของการเปิดท้ายขายของ เหตุผลเพราะการแพร่กระจายของโรค ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการเข้ม ห้ามออกจาก เคหะสถานและที่พัก การพบปะกันในที่ประชุมก็ทำไม่ได้ แม้แต่พอจะคุยกันได้ก็ยังต้องนั่งห่าง ๆ กัน และนี่คือ เหตุผลหนึ่งที่ทำให้วิกฤตการณ์ในครั้งนี้เศรษฐกิจทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว เพราะเกิดขึ้นจากการออกไปทำธุรกิจธุรกรรมไม่ได้ ต้องอยู่บ้านไม่ได้เพราะถูกไล่ออกจากงาน แต่จะออกไปทำงานก็ไปไม่ได้ ต้อง work from home…… ไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจไม่ดี แต่ร้านค้าถูกบังคับให้จำยอมต้องปิดตัวลง คงเหลือที่ทำได้บางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

 

แต่….ที่น่าสนใจ คือ “วิกฤตการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นทั้งโลกและไม่ได้เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจที่พังทลายบนพื้นฐานของธุรกิจอย่างแท้จริง”แต่เป็นการเสียหายลงจากโรคร้าย ซึ่งก็หวังว่าจะผ่านพ้นไปได้ในเร็ววันนี้ เราถึงน่าจะกลับมามองดู

 

สมมุติว่า : ถ้าวันนี้โรคร้ายได้จากไป เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นดีขึ้นอีกครั้ง นอกจากการฟื้นฟูธุรกิจที่ทำอยู่ของแต่ละองค์กรแล้ว มีธุรกิจอะไรที่คิดว่าน่าจะเกิดขึ้นใหม่และน่าสนใจในการลงทุน อย่าลืมคำนี้นะครับ

 

“หลังสงครามจะมีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นเสมอ”

 

ผู้เขียน : อาจารย์นิวัติ ลมุนพันธ์